ผลกระทบของโควิด-19 ต่อการประเมินผลประโยชน์พนักงาน
- On October 6, 2020
สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า (COVID-19) ที่แพร่ระบาดทั่วโลกในปัจจุบัน กระทบต่อการดำเนินธุรกิจของไทยเป็นอย่างมาก สำนักวิจัยทางเศรษฐกิจหลายแห่งคาดว่าแนวโน้มของการฟื้นตัวอาจจะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี ก่อนที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับมาอยู่ในระดับก่อนการระบาด…เหตุการณ์ครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อการประเมินผลประโยชน์พนักงานอย่างไร…
ช่วงแรกของการระบาด กิจการส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจากยอดขายหรือรายได้ที่ลดลง เริ่มทยอยปรับตัว ผ่านมาตรการต่างๆ เช่น การปรับลดเวลาการทำงานในบางตำแหน่ง หรือสายงาน นโยบายการทำงานที่บ้าน (Work From Home: WFH) ร่วมกับ การชะลอการรับพนักงานใหม่ แต่นั่นเป็นเพียง Honeymoon Period ของการระบาดช่วงแรกเท่านั้น
ในระยะต่อมาเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาด ยังไม่คลี่คลาย รวมถึงในบางประเทศที่แม้ว่าจะสามารถควบคุมการระบาดได้ในระยะแรก แต่ส่วนใหญ่มักจะกลับมาระบาดในรอบที่ 2 ผลกระทบต่อรายได้ของกิจการที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงและมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ทำให้หลายกิจการเริ่มมองหามาตรการเพื่อลดค่าใช้จ่ายให้สอดคล้องกับ แนวโน้มการดำเนินธุรกิจที่เหมาะสมในอนาคต เช่น การปรับลดค่าจ้างในระยะสั้น หรือ บางกิจการอาจจะพิจารณาปรับโครงสร้างธุรกิจและองค์กรให้เหมาะสมผ่านการเลิกจ้าง ไม่ว่าจะเป็นกรณีแบบสมัครใจ เช่น โครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด หรือแบบไม่สมัครใจ (Redundancy Program – Termination)
กรณีการลดค่าจ้าง มีประเด็นทางกฎหมายตาม พรบ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) มาตรา 75 ที่บัญญัติว่า “ในกรณีที่นายจ้างมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว ด้วยเหตุหนึ่งเหตุใดที่สำคัญอันมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้าง ให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงาน” และหากนายจ้างพิจารณาทางเลือกในการลดค่าจ้างแบบถาวร ยังมีประเด็นใน พรบ. แรงงงานสัมพันธ์ ที่ระบุว่า “นายจ้างจะลดค่าจ้างของลูกจ้างไม่ได้ถ้าหากลูกจ้างไม่ยินยอม เพราะถือเป็นการเปลี่ยนสภาพการจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่ลูกจ้าง” แต่หากลูกจ้างยินยอมโดยสมัครใจก็สามารถที่จะทำได้ โดยจะต้องมีใบสัญญาระบุชัดเจนที่ว่าลูกจ้างยินดีลดค่าจ้างของตัวเองลงเท่าไหร่ ซึ่งจะต้องให้ลูกจ้างลงนามยินยอมเท่านั้น ทั้งนี้ลูกจ้างจะต้องได้รับค่าจ้างไม่ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ส่วนลูกจ้างคนไหนไม่ยอมเซ็นลดเงินเดือน ขึ้นอยู่กับนโยบายภายในของบริษัทว่าจะมีมาตรการอย่างไร เช่น เลิกจ้างลูกจ้างที่ไม่เซ็นชื่อยินยอมลดเงินเดือน และทางบริษัทก็จ่ายค่าชดเชย รวมค่าบอกกล่าวล่วงหน้าตามที่กฎหมายกำหนด
ขณะที่การเลิกจ้างนั้น ตามกฎหมายแรงงานของไทยระบุเรื่องของการจ่ายเงินชดเชย โดยให้อ้างอิง “ค่าจ้างอัตราสุดท้าย” เป็นฐานในการคำนวณเงินชดเชย และบริษัทต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ดังนั้นหากกรณีพนักงานที่ยินยอมลดค่าจ้าง เช่น เดิมพนักงานรับเงินเดือน 25,000 บาท แล้วเซ็นยินยอมลดเงินเดือนเหลือ 18,750 บาท เมื่อบริษัทแจ้งเลิกจ้าง บริษัทก็ต้องจ่ายค่าชดเชยโดยใช้ฐานค่าจ้างอัตราสุดท้าย คือ 18,750 บาทในการคำนวณค่าชดเชยจ่ายตามมาตรา 118 เป็นต้น
ในส่วนของการบันทึกบัญชีตามมาตรฐานการบัญชีไทยฉบับที่ 19 ล่าสุดที่มีผลบังคับใช้ในปี 2563 ได้กำหนดแนวทางปฎิบัติให้มีความชัดเจนมากขึ้น กรณีที่กิจการมีการปรับปรุงโครงสร้างองค์กรโดยการลดจำนวนพนักงานลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเรียกว่า “การลดขนาดโครงการ”
โดยปกติ เหตุการณ์ดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อการประมาณการณ์หนี้สินผลประโยชน์หลังออกจากงาน (Post- Employment Benefit อาทิ ผลประโยชน์เกษียณอายุ) ผ่านรายการต้นทุนบริการในอดีต (Past Service Cost) ซึ่งที่ผ่านมา ในย่อหน้าที่ 99 (มาตรฐานการบัญชีไทยฉบับที่ 19 ปี 2561) กิจการต้องวัดมูลค่าใหม่ของหนี้สิน (สินทรัพย์) ผลประโยชน์ที่กำหนดไว้สุทธิ โดยใช้มูลค่ายุติธรรมปัจจุบันของสินทรัพย์โครงการและข้อสมมติในการประมาณการหลักคณิตศาสตร์ประกันภัยในปัจจุบัน (รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยในตลาดปัจจุบันและราคาตลาดปัจจุบันอื่น) ที่สะท้อนถึงผลประโยชน์ที่นำเสนอภายใต้โครงการก่อนการแก้ไขโครงการ การลดขนาดโครงการลง หรือจ่ายชำระผลประโยชน์ ซึ่งยังมีความคลุมเครือถึงจุดเวลาที่ใช้อ้างอิงในการวัดมูลค่าใหม่ เช่น ณ วันต้นงวด ได้หรือไม่ เป็นต้น
แต่ในมาตราฐานการบัญชีไทยฉบับที่ 19 ล่าสุดที่มีผลบังคับใช้ในปี 2563 ได้ระบุรายละเอียดที่ชัดเจนขึ้นโดยให้วัดมูลค่าใหม่ ณ วันที่มีเหตุการณ์สำคัญนั้นๆ ผ่านรายการทางบัญชีที่ต้องแสดง เช่น ต้นทุนบริการ ต้นทุนดอกเบี้ย ณ วัน ก่อนและหลัง เหตุการณ์สำคัญนั้นๆ เช่น การแก้ไขโครงการ การลดขนาดโครงการลง หรือการจ่ายชำระผลประโยชน์ ตามย่อหน้า ที่ 99ก. และ 99ข.
(99)(ก) ผลประโยชน์ที่นำเสนอภายใต้โครงการก่อนการแก้ไขโครงการ การลดขนาดโครงการลง หรือการจ่ายชำระผลประโยชน์
(99)(ข) ผลประโยชน์ที่นำเสนอภายใต้โครงการหลังการแก้ไขโครงการ การลดขนาดโครงการลง หรือการจ่ายชำระผลประโยชน์
…กล่าวโดยสรุปก็คือ เมื่อมีเหตุการณ์พิเศษ เช่น การลดจำนวนพนักงานเป็นจำนวนอย่างมีนัยสำคัญ หากตีความตามมาตรฐานการบัญชีไทยฉบับที่ 19 ล่าสุด กิจการจะต้องวัดมูลค่าใหม่ ในวันที่เกิดเหตุการณ์นั้นๆ เพื่อที่จะทราบต้นทุนบริการในอดีตที่จะต้องนำมาปรับปรุงมูลค่าหนี้สินผลประโยชน์พนักงาน ณ วันที่เกิดเหตุการณ์ พร้อมกับจะต้องมีตัวเลขของต้นทุนบริการ ต้นทุนดอกเบี้ย ที่เป็นปัจจุบัน ตามโครงสร้างพนักงานใหม่ สำหรับบันทึกบัญชีให้ถูกต้องในงวดหลังจากเหตุการณ์พิเศษนั้นๆด้วย ดังนั้น กิจการอาจจะต้องประสานงานกับนักคณิตศาสตร์ประกันภัย และผู้ประเมิน เพื่อจัดทำตัวเลขให้ทันเวลาตามรอบการรายงานทางบัญชี และ ถูกต้องตามมาตรฐานการบัญชีต่อไป…
0 Comments