ค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ กับผลกระทบต่อการประเมินผลประโยชน์พนักงาน
- On September 13, 2022
หลายท่านคงได้รับทราบข่าวการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ที่ประกาศ และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 โดยภาพรวมการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ มีการปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 4.5 ถึง 6.6 ต่อปี หลังจากที่ไม่ได้มีการปรับอัตราค่าจ้างตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา โดยพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นพื้นที่ที่มีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ สูงสุดอยู่ที่ร้อยละ 6.5 (311 บาทต่อวัน มาอยู่ที่ 353 บาทต่อวัน) ขณะที่จังหวัดฉะเชิงเทรามีการปรับอัตราค่าจ้างต่ำที่สุด คือเพียงร้อยละ 4.5 (320 บาทต่อวัน มาอยู่ที่ 345 บาทต่อวัน)
ทั้งนี้กระบวนการในการพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทยนั้น จะเป็นการพิจารณาผ่านกลไกคณะกรรมการค่าจ้าง ในลักษณะไตรภาคี (Tripartite Committee) โดยมีกรรมการที่เป็นผู้แทนฝ่ายรัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้าง ฝ่ายละเท่าๆ กัน เพื่อให้มีการถ่วงดุลอํานาจของทุกฝ่าย ในการกําหนดค่าจ้างขั้นต่ำนั้น คณะอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำในระดับจังหวัด จะเป็นผู้พิจารณาเสนอแนะค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัดต่อคณะกรรมการค่าจ้าง โดยมีคณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองทําหน้าที่ทบทวนข้อเสนอของคณะอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัดก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมการค่าจ้างพิจารณาตัดสิน
โดยมีกรอบในการพิจารณา 3 ด้าน ได้แก่
(1) ค่าครองชีพของลูกจ้าง โดยพิจารณาจาก อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานการครองชีพที่ควรเป็น รวมทั้งค่าจ้างอื่นๆ
(2) ความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง โดยดูจากต้นทุนการผลิต กําไรของธุรกิจ และผลิตภาพของแรงงาน
(3) สภาพเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งพิจารณาจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ และสภาพเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม
ในมุมมองของลูกจ้าง การเรียกร้องค่าตอบแทน ส่วนใหญ่จะเป็นผลมาจากต้นทุนการดำรงชีวิต ค่าครองชีพ ซึ่งสะท้อนผ่านอัตราเงินเฟ้อทั่วไป โดยอัตราเงินเฟ้อของไทยเดือนกรกฎาคม 2565 เพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 7.61 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ทางคณะกรรมการค่าจ้าง พิจารณาประกาศอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ให้สอดคล้องกับภาระค่าครองชีพในปัจจุบัน
เมื่อฐานการคำนวณเงินสำรองผลประโยชน์พนักงานตามมาตฐานการบัญชีฉบับที่ 19 (TAS19 – Employee Benefits) ซึ่งก็คือ ค่าจ้าง มีการเปลี่ยนแปลง ก็จะกระทบต่อจำนวนเงินที่ต้องตั้งสำรอง โดยเฉพาะกิจการที่มีสัดส่วนการจ้างงานพนักงานกลุ่มรายวันที่สูง อย่างไรก็ตาม คำถามสำคัญสำหรับกิจการในเรื่องนี้ก็คือ
1) กระทบมากน้อยแค่ไหน และ
2) กิจการจำเป็นต้องทบทวนรายงานการประเมินผลประโยชน์พนักงานสำหรับสิ้นรอบบัญชีนี้ใหม่หรือไม่?
ในส่วนของผลกระทบนั้น โดยปกติการคำนวณจะมีปัจจัยหลักอยู่ 2 เรื่อง คือ ฐานค่าจ้างใหม่ ณ วันประเมิน ซึ่งเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 4.5 ถึง 6.6 และ การคาดการณ์อัตราค่าจ้างสุดท้าย ณ วันที่ลูกจ้างเกษียณอายุ ผ่านตัวแปรเรื่องอัตราเพิ่มขึ้นของค่าจ้าง (Wage/Salary Increase Assumption) ซึ่งโดยปกติการกำหนดสมมติฐานอัตราเพิ่มขึ้นของค่าจ้างตามมาตฐานการบัญชีฉบับที่ 19 (TAS19 – Employee Benefits) นั้นควรพิจารณาในมุมมองระยะยาวเป็นหลัก หากพิจารณาซึ่งจากสถิติพบว่าในระยะยาวการเพิ่มขึ้นของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของไทยจะอยู่ในช่วงร้อยละ 3 ถึง 4 ต่อปีโดยเฉลี่ย ซึ่งสอดคล้องกับสมมติฐานที่ทาง บริษัท ทีม เอ็กซ์เซลเลนซ์ (Team Excellence) ใช้ในการคำนวณให้ลูกค้าของบริษัท
ในแง่ของการประเมินผลประโยชน์พนักงาน การปรับฐานค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ ผลกระทบจึงเป็นเพียงส่วนต่างของฐานค่าจ้างใหม่ เทียบกับฐานค่าจ้างตามสมมติฐานที่ใช้ในการคำนวณ ยกตัวอย่างเช่น กิจการในจังหวัดระยองประเมินผลประโยชน์เมื่อปี 2021 ด้วยฐานค่าจ้าง 335 บาท กำหนดสมมติฐานการขึ้นค่าจ้างระยะยาวที่ร้อยละ 3 ต่อปี ดังนั้นฐานค่าจ้างในปี 2022 ตามสมมติฐานจะอยู่ที่ 345 บาท
ดังนั้นเมื่อเปรีบเทียบกับฐานค่าจ้างขั้นต่ำที่ประกาศใหม่ที่ 354 บาท จะมีผลต่างเพียง ร้อยละ 2.6 เท่านั้น นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกหลายปัจจัยในการคำนวณ เช่น อัตราการลาออกของพนักงานรายวัน ซึ่งปกติจะอยู่ในอัตราที่สูง ภาระผูกพันผลประโยชน์พนักงานของพนักงานในกลุ่มนี้ จึงมีสัดส่วนที่ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับภาระผูกพันในภาพรวม เป็นต้น
โดยรวมแล้ว ความแตกต่างที่เกิดขึ้นจากกรณีปรับค่าจ้างขั้นต่ำนี้ สามารถถือเป็นการความคลาดเคลื่อนจากการประมาณการตามหลักคณิตศาสตร์ประกันภัย (Actuarial gain/loss) ที่เกิดจากประสบการณ์ (Experience Adjustment) กิจการจึงสามารถรับรู้ผลกระทบนี้ในส่วนนี้ ส่วนของกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น (Other Comprehensive Income: OCI)
===============================================================================
บทความโดย ธนวิทย์ สุทธรัตนกุล
0 Comments