แนวคิดการคำนวณและการบันทึกบัญชีโครงการร่วมลงทุนระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง (EJIP: Employee Joint Investment Program)
- On May 19, 2023
ในอดีตที่ผ่านมากิจการในประเทศไทยหลายแห่ง มีการจัดหาผลประโยชน์ระยะยาวให้แก่พนักงานหลายรูปแบบ แต่ส่วนใหญ่จะมีลักษณะที่เป็นการให้ตามอายุงานของการทำงานโดยตรง เช่น เมื่อพนักงานปฎิบัติงานครบ 5 ปี 10 ปี จะให้ผลประโยชน์ในรูปของเงินรางวัล หรือ ของรางวัลที่มีมูลค่าจำพวก ทองคำ ของที่ระลึกที่มีมูลค่า เป็นต้น ซึ่งผลประโยชน์กลุ่มนี้ในทางบัญชี จะต้องมีการประเมินภาระผูกพันผลประโยชน์พนักงานเพื่อตั้งสำรองทางบัญชี ตามมาตรฐานการบัญชีไทยฉบับที่ 19 (IAS19 – Employee Benefit)
อย่างไรก็ตาม รูปแบบของการให้ผลประโยชน์ระยะยาวของกิจการก็มีการพัฒนาหรือปรับเปลี่ยน ให้สอดคล้องกับรูปแบบของธุกิจ วัตถุประสงค์ของการบริหารจัดการบุคลากร ทั้งในเรื่องของความคาดหวังต่อการปฎิบัติงาน หรือลักษณะของกลุ่มพนักงาน และบนพื้นฐานของความยากง่ายของการบริหารจัดการแผนผลประโยชน์นั้นๆ เป็นต้น
ปัจจุบันบริษัทในตลาดหลักทรัพย์หลายแห่ง เริ่มให้ความสนใจการให้ผลประโยชน์พนักงานระยะยาวในรูปแบบที่เรียกว่า โครงการร่วมลงทุนระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง (EJIP: Employee Joint Investment Program) ซึ่งเป็นโครงการสำหรับพนักงาน ผู้บริหาร หรืออาจรวมถึงกรรมการของบริษัทที่จดทะเบียน (กรณีกรรมการจะต้องขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นด้วย) โดยลักษณะโครงการจะอยุ่บนพื้นฐานของความสมัครใจ และเป็นการร่วมลงทุนระหว่างพนักงาน และบริษัท ในรูปแบบของการทยอยซื้อหุ้นของบริษัทที่พนักงานปฎิบัติงานอยู่จากตลาดหลักทรัพย์ อย่างสม่ำเสมอเป็นงวดๆ ตามวิธีการหรือรูปแบบที่ถูกกำหนดไว้ตั้งแต่เริ่มโครงการ ด้วยหลักการเฉลี่ยต้นทุน (Dollar Cost Average) ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างแรงจูงใจให้พนักงานปฎิบัติงานให้กับองค์กรในระยะยาว และสร้างการมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของกิจการ (Long-term Incentives) โดยผู้ที่เข้าร่วมโครงการจะได้ประโยชน์ในรูปเงินสมทบเพื่อซื้อหุ้นของบริษัท กำไรจากส่วนต่างของราคาหุ้นและเงินปันผล (ถ้ามี)
ในด้านการบันทึกบัญชีสำหรับโครงการร่วมลงทุนระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง (EJIP) นั้น ที่ผ่านมาบริษัทส่วนใหญ่ยังความความสับสนในทางปฎิบัติ จากความเข้าใจผิดที่ว่า เงินสมทบโครงการร่วมลงทุนมีลักษณะเหมือนกับการบันทึกบัญชีกรณีเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งบันทึกเงินสมทบเป็นค่าใช้จ่ายได้ตรงๆ แต่สิ่งที่แตกต่างกันก็คือ โครงการร่วมลงทุนนี้ เป็นการนำเงินไปลงทุนซื้อเฉพาะหุ้นของบริษัทเท่านั้น (ผลประโยชน์ถูกอ้างอิงตามราคาหลักทรัพย์ของบริษัท) จึงเข้าข่ายการจ่ายผลประโยชน์โดยใช้หุ้นเป็นเกณฑ์ ซึ่งจะต้องนำแนวทางการบันทึกบัญชีตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 2 เรื่อง การจ่ายโดยใช้หุ้นเป็นเกณฑ์ (TFRS2) มาถือปฎิบัติ
หลักการของการบันทึกบัญชีโครงการร่วมลงทุน (EJIP) ภายใต้ TFRS2 พื้นฐานจะมีรูปแบบคือ Debit – Expense และ Credit – Equity แต่ส่วนที่สำคัญจะต้องพิจารณากำหนดค่าใช้จ่ายให้สอดคล้องกับลักษณะและเงื่อนไขของแผนผลประโยชน์หรือโครงการนี้ โดยเริ่มนับตั้งแต่วันแรกของการเริ่มโครงการ จนถึงเวลาที่พนักงานจะได้สิทธิ์ขาดของผลประโยชน์ตามโครงการ (Vesting condition) นั้นๆ หรืออธิบายได้ว่า จะต้องมีการเฉลี่ยค่าใช้จ่ายให้สอดคล้องตามสิทธิ์ที่พนักงานจะได้รับ ซึ่งกรณีเช่นนี้ ค่าใช้จ่ายในปีแรก ส่วนใหญ่จะมีมากกว่าปีหลังๆ (Front-End Load cost)
ขอยกกรณีตัวอย่างในการบันทึกบัญชีดังนี้ สมมติบริษัทมีโครงการเงินสมทบ (EJIP) โดยกำหนด Vesting condition ให้พนักงานสามารถขายหุ้นที่ซื้อภายใต้โครงการได้เมื่อโครงการสิ้นสุดในปีที่ 3 (FY#3) โดยบริษัทสมทบเงินให้พนักงานปีละ 1,000 บาท
- ในปีที่ 1 เงินสมทบ 1,000 บาท บันทึกเป็นค่าใช้จ่ายได้โดยตรง
- ในปีที่ 2 เงินสมทบ 1,000 บาท จะถูกกระจายเพื่อบันทึกค่าใช้จ่าย เนื่องจากผลประโยชน์ที่บริษัทให้กับพนักงานนั้น เป็นการตกลงให้ตั้งแต่วันแรกที่พนักงานสมัครเข้าร่วมโครงการ ซึ่งโดยพื้นฐาน พนักงานก็ได้เริ่มทำงานตั้งแต่วันนั้น เพื่อแลกกับผลประโยชน์ที่บริษัทจะให้ในปีที่ 2 เช่นกัน ดังนั้นการบันทึกค่าใช้จ่ายจึงถูกกระจาย เป็น 2 ส่วนตามตัวอย่าง โดยค่าใช้จ่ายสำหรับปีแรก ยังต้องมีการคำนวณเพื่อปรับเป็นมูลค่าปัจจุบันเพิ่มเติม ด้วย โดยกรณีตัวอย่างสมมติอัตราคิดลดที่ร้อยละ 5 ค่าใช้จ่ายจึงถูกปรับมาอยู่ที่ 500/(1.05) = 476.2
ปี | เงินสมทบที่บริษัทออกให้พนักงาน | |||||||
ปีที่ 1 | ปีที่ 2 | ปีที่ 3 | รวม | |||||
บันทึกค่าใช้จ่ายตามปี | บันทึกค่าใช้จ่ายตาม TFRS2 | บันทึกค่าใช้จ่ายตามปี | บันทึกค่าใช้จ่ายตาม TFRS2 | บันทึกค่าใช้จ่ายตามปี | บันทึกค่าใช้จ่ายตาม TFRS2 | บันทึกค่าใช้จ่ายตามปี | บันทึกค่าใช้จ่ายตาม TFRS2 | |
FY#1 | 1,000 | 1,000 | 0 | 476.2 | 0 | 302.3 | 1,000 | 1,778.5 |
FY#2 | 1,000 | 500 | 0 | 317.4 | 1,000 | 817.4 | ||
FY#3 | 1,000 | 333.3 | 1,000 | 333.3 | ||||
รวม | 3,000 | 2,929.2 |
- ในปีที่ 3 หลักการจะเหมือนปีที่ 2 กล่าวคือ เงินสมทบ 1,000 บาท จะถูกกระจายเพื่อบันทึกค่าใช้จ่าย ตลอดช่วง 3 ปี คือ เฉลี่ยปีละ 3 และยังต้องมีการคำนวณเพื่อปรับเป็นมูลค่าปัจจุบันเพิ่มเติมด้วย โดยกรณีตัวอย่าง ค่าใช้จ่ายที่ถูกบันทึกในรอบบัญชีที่ 1 (FY#1) จึงถูกคิดลดกลับมา 2 ปีอยู่ที่ 333.3/(1.05)^2 = 302.3 และ ในรอบบัญชีที่ 2 (FY#2) ค่าใช้จ่ายถูกคิดลดกลับมา 1 ปีอยู่ที่ 333.3/(1.05) = 317.4
จากตัวอย่างข้างต้น ยังไม่ได้พิจารณเงินที่กิจการสมทบเนื่องจากการปรับขึ้นเงินเดือนของพนักงานในอนาคต หรือ เงื่อนไขอื่นๆ กรณีโครงการมีความซับซ้อนที่มากขึ้น เป็นต้น โดยการบันทึกบัญชีในปี FY#1 จะเป็นดังนี้ คือ Debit – Expense 1,778.5 และ Credit – Equity 1,778.5 ปี FY#2 Debit – Expense 817.4 และ Credit – Equity 817.4 และ ปี FY#3 Debit – Expense 333.3 และ Credit – Equity 333.3 เป็นต้น
โดยสรุปการคำนวณและการบันทึกบัญชีโครงการร่วมลงทุนระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง (EJIP) จึงมีความซับซ้อนและต้องพิจารณาเงื่อนไขของโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน เพื่อที่จะคำนวณค่าใช้จ่ายในการบันทึกบัญชีให้ถูกต้องสอดคล้องตามหลักเกณฑ์ของมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 2 เรื่อง การจ่ายโดยใช้หุ้นเป็นเกณฑ์ (TFRS2)
ท่านที่สนใจรายละเอียดการประเมินผลประโยชน์พนักงานกรณีโครงการร่วมลงทุนระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง (EJIP) ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 2 (TFRS2)
สามารถติดต่อบริษัทได้ที่ Email: customerservices@teamactuary.com หรือโทร 02 252 5500
0 Comments