5 คำถามยอดนิยมเกี่ยวกับ IFRS 17 จากนักลงทุนและนักวิเคราะห์
- On November 11, 2020
Q#1 : IFRS 17 จะมีผลต่อการจ่ายเงินปันผลหรือไม่
ไม่จําเป็นที่ IFRS17 จะมีผลต่อการจ่ายเงินปันผล เนื่องจากการจ่ายเงินปันผลของบริษัทประกันภัยขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น ข้อกําหนดด้านเงินกองทุน นโยบายการจัดการเงินกองทุน ผลกําไรที่แจกจ่ายได้ตามกฎหมาย และกําไรในรายงานงบการเงิน เป็นต้น IFRS 17 จะมีผลต่อระยะเวลาการรับรู้กําไรสําหรับบริการประกันภัยเท่านั้น ดังนั้น IFRS 17 จึงไม่เปลี่ยนแปลงความสามารถในการแจกจ่ายเงินปันผลทั้งหมดของบริษัทประกันภัย
ระยะเวลาของการรับรู้ของกําไรจากบริการประกันในปัจจุบันมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสําคัญ ตามแต่ละประเทศและแต่ละผลิตภัณฑ์ ตัวอย่างเช่น บริษัทประกันภัยบางรายรับรู้ผลกําไรทันทีเมื่อมีการออกสัญญาประกันภัย บางรายรับรู้ผลกําไรเฉพาะเมื่อสัญญาสิ้นสุดลง และบางรายรับรู้กําไรตลอดระยะเวลาของสัญญาประกันภัยตามกาลเวลา
IFRS 17 จึงเสนอที่จะให้เกิดความสอดคล้องกันโดยกําหนดให้บริษัทประกันภัยรับรู้กําไรในขณะที่บริษัทให้บริการด้านประกันภัย ด้วยเหตุนี้จึงเป็นไปได้ว่า บริษัทประกันภัยบางรายเมื่อเปลี่ยนเป็น IFRS 17 อาจมีการนํานโยบายการจ่ายเงินปันผลกลับมาพิจารณาใหม่ ในระหว่างที่บริษัทกำลังปรับให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง
Q#2 : มาตรฐานการบัญชีที่ยึดหลักการ (principle-based) อย่าง IFRS 17 สามารถช่วยพัฒนาการเปรียบเทียบระหว่างบริษัทประกันภัยได้อย่างไร
IFRS 17 ยกเลิกความหลากหลายในการลงบัญชีสําหรับสัญญาประกันภัย ทําให้นักลงทุน นักวิเคราะห์และบุคคลอื่นๆสามารถเปรียบเทียบบริษัทประกันภัยได้ มาตรฐานระหว่างกาลที่มีอยู่ (IFRS 4) อนุญาตให้บริษัทประกันภัยมีการรายงานทางบัญชีที่แตกต่างกันได้สําหรับสัญญาประกันภัยที่บริษัทประกันภัยออกในประเทศที่แตกต่างกัน แม้ว่าสัญญาเหล่านั้นจะคล้ายกัน นอกจากนี้ ในปัจจุบันบริษัทประกันภัยข้ามชาติบางรายมีการจัดเตรียมงบการเงินรวมโดยการนำตัวเลขทางบัญชีที่ปฏิบัติไม่เหมือนกันจากบริษัทย่อยมารวมกัน
IFRS 17 เป็นมาตรฐานที่ยึดหลักการ เช่นเดียวกับมาตรฐาน IFRS อื่นๆ มาตรฐาน IFRS สนับสนุนให้บริษัทใช้วิจารณญาณทางวิชาชีพในการนําหลักการไปใช้กับธุรกรรมเฉพาะของบริษัทหรืออุตสาหกรรม เพื่อให้แสดงถึงมูลค่าทางเศรษฐกิจของการทําธุรกรรมเหล่านั้นอย่างซื่อสัตย์
แม้ว่า IFRS 17 มีความยืดหยุ่นให้บริษัทสามารถกําหนดส่วนประกอบบางอย่างในการวัดมูลค่าของสัญญาประกันภัยได้ (ตัวอย่างเช่น อัตราคิดลด)แต่ก็กําหนดให้ บริษัทต้องอธิบายและเปิดเผยกระบวนการในการประมาณการส่วนประกอบเหล่านั้น การเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้นักลงทุนสามารถวิเคราะห์ว่าการใช้วิจารณญาณของบริษัทประกันภัยมีผลต่อการเปรียบเทียบระหว่างบริษัทอย่างไร
Q#3 : IFRS 17 จะนํามาซึ่งการเปรียบเทียบรายงานทางการเงินในภาคการประกันภัยทั่วโลกหรือไม่
ใช่ แต่ยกเว้นสําหรับประเทศที่ไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐาน IFRS โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา
ภายใต้ US GAAP นั้น บริษัทประกันภัยอเมริกันมีการใช้ข้อกําหนดที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับชนิดของสัญญาประกันที่พวกเขาออก (ตัวอย่างเช่น สัญญาประกันระยะสั้นหรือสัญญาประกันระยะยาว) คณะกรรมการมาตรฐานการบัญชีการเงินของสหรัฐฯ กําลังดำเนินโครงการที่จะปรับปรุง ลดความซับซ้อน และเพิ่มข้อกําหนดด้านรายงานทางการเงินสําหรับสัญญาประกันภัยระยะยาวที่ออกโดยบริษัทที่ใช้ US GAAP
หากข้อเสนอที่จะเปลี่ยนแปลง US GAAP ได้รับคำยืนยัน คาดว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะสามารถลดความแตกต่างระหว่าง IFRS 17 และ US GAAP รวมถึงหลักการใช้สมมติฐานในปัจจุบันได้ แต่อย่างไรก็ตาม ข้อกำหนดของมาตรฐานทั้งสองชุดก็จะยังคงมีความแตกต่างกัน
Q#4 : ข้อแตกต่างที่สำคัญของ “การรายงานตาม IFRS 17” “การรายงานตามข้อบังคับทางกฎหมาย” และ”การรายงานตาม Embedded value” คืออะไร
การรายงานตามข้อบังคับทางกฏหมาย (Regulatory reporting) และการรายงานตาม IFRS 17 มีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น ข้อบังคับทางกฎหมายของยุโรปสําหรับระดับเงินกองทุน หรือที่เรียกว่า Solvency II นั้น มีวัตถุประสงค์มุ่งเน้นไปที่เงินกองทุนตามความเสี่ยงของบริษัท และไม่ได้ออกแบบมาเป็นตัวชี้วัดการรายงานประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม Solvency II มีความคล้ายคลึงกับ IFRS 17 ในเรื่อง วิธีการประเมินหนี้สินตามสัญญาประกันภัย การใช้ประมาณการกระแสเงินสดในอนาคต การใช้อัตราคิดลดที่สอดคล้องกับอัตราคิดลดปัจจุบันในตลาดการเงิน และการปรับค่าความเสี่ยง
ความแตกต่างที่สําคัญระหว่าง IFRS 17 และ Solvency II คือข้อกําหนดของ IFRS 17 ในการคํานวณและรักษา’อัตรากําไรจากบริการตามสัญญา(CSM)’ อันเป็นกําไรที่ยังไม่ได้รับ โดยกำหนดให้บริษัทรับรู้ในงบกําไรขาดทุนเมื่อได้ให้ความคุ้มครอง ในขณะที่ Solvency II ไม่มีข้อกำหนดนี้
สำหรับการรายงานตาม Embedded value เป็นการจัดทําขึ้นโดยสมัครใจโดยบริษัทประกันภัยบางราย เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับสัญญาประกันระยะยาว ที่ไม่มีอยู่ในงบการเงินที่จัดทําขึ้นภายใต้ IFRS 4 แม้ว่าข้อมูลเหล่านี้จะมีประโยชน์ต่อนักลงทุนจํานวนมาก แต่ก็ไม่ได้ถูกนําเสนออย่างสม่ําเสมอและไม่ใช่ทุกบริษัทที่จะมีการจัดทำข้อมูลเหล่านี้
สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับผลกำไรในปัจจุบันและในอนาคตของสัญญาประกันภัยระยะยาวภายใต้รายงาน IFRS 17 นั้น สามารถสร้างการเปรียบเทียบระหว่างข้อมูลได้ดีกว่าข้อมูลที่จัดทำโดยรายงาน embedded value ทำให้ ไม่ช้าก็เร็ว IFRS 17 อาจจะมาแทนที่การวัดประสิทธิภาพที่คํานวณโดยใช้ Embedded value หรือการวัดมูลค่าในแบบอื่นๆที่คล้ายกัน
Q#5 : การเอาเบี้ยประกันภัยออกจากงบกําไรขาดทุน ช่วยให้การเปรียบเทียบระหว่างบริษัทประกันภัยดีขึ้นได้อย่างไร
เมื่อนำ IFRS 17 มาปฏิบัติ บริษัทประกันภัยจํานวนมากจะต้องแสดงรายการ ‘รายได้ค่าประกันภัย (insurance revenue)’ ในงบกําไรขาดทุนเป็นครั้งแรก รายได้ค่าประกันภัยนี้ จะมาแทนที่รายการที่เป็น ‘รายได้เบี้ยประกันภัย (premium income)’ ‘เบี้ยประกันภัยที่รับ (written premiums)’ หรือ ‘เบี้ยประกันภัยที่ได้รับรู้เป็นรายได้ (earned premiums)’ ในงบกำไรขาดทุนของบริษัทประกันภัย โดยรายได้ค่าประกันภัยจะสะท้อนความคุ้มครองประกันภัยที่ให้ไว้และไม่รวมส่วนประกอบเงินฝากใดๆ ที่ได้รับผ่านเบี้ยประกันภัย
IFRS 17 ได้นำหลักการพื้นฐานของ IFRS มาปรับใช้กับการรับรู้ทางบัญชีสำหรับสัญญาประกันภัย นั่นคือการรับรู้รายได้เมื่อให้บริการกับลูกค้าแล้ว จึงทำให้ IFRS 17 ช่วยลดความแตกต่างระหว่างข้อกําหนดสําหรับสัญญาประกันภัย และสัญญากับลูกค้าในอุตสาหกรรมอื่น ๆ
นอกจากนี้ บริษัทประกันภัยหลายแห่งในปัจจุบันได้แสดงเบี้ยประกันภัยที่ครบกําหนดชําระเต็มจำนวน ในบรรทัดบนสุดของงบกําไรขาดทุน เบี้ยประกันเหล่านั้นมักจะรวมส่วนประกอบเงินฝากซึ่งเป็นจํานวนเงินที่เก็บรวบรวมจากลูกค้าที่ได้รับชําระคืนแม้ว่ายังไม่เกิดการรับประกันภัย
ในขณะที่ IFRS 17 ไม่รวมส่วนประกอบเงินฝากในงบกําไรขาดทุน เนื่องจากการรับเงินฝากไม่ใช่รายได้ และการชําระคืนเงินฝากนั้นไม่ใช่ค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับการที่ธนาคารไม่ถือว่าเงินฝากเป็นรายได้ ด้วยเหตุผลนี้ IFRS 17 จึงช่วยปรับปรุงความสามารถในการเปรียบเทียบระหว่างรายได้ที่รับรู้โดยบริษัทประกันภัย และรายได้ที่รับรู้โดยธนาคารทั่วไป
……………………………………………………………………………………………………………………..
ที่มา: https://www.ifrs.org/news-and-events/2017/11/what-investors-ask-about-ifrs-17/
0 Comments