กระทรวงแรงงาน ปรับปรุงอัตราค่าทำศพลูกจ้าง ให้นายจ้างจ่ายเพิ่มเป็น 50,000 บาท
- On July 22, 2021
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานได้ออกกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าทำศพที่ให้นายจ้างจ่ายเมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตาย ในอัตรา 50,000 บาท หลายกิจการอาจจะสงสัยว่าเงินจำนวนดังกล่าว เป็นภาระโดยตรงของกิจการหรือไม่ และในเรื่องของการบันทึกบัญชีตามมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 19 เรื่องผลประโยชน์พนักงาน จำเป็นที่ต้องตั้งสำรองเพิ่มเติมหรือไม่ หากต้องตั้งสำรองจะมีจำนวนประมาณเท่าไร
ขออธิบายหลักการพื้นฐานของค่าทำศพตามกฎกระทรวงฉบับนี้ก่อนนะครับ ว่าผลประโยชน์กรณีเสียชีวิตตามกฎดังกล่าว เป็นเกณฑ์ภายใต้พระราชบัญญัติเงินทดแทน ซึ่งกำหนดให้นายจ้างจ่ายเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้าง เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย หรือถึงแก่ความตายหรือสูญหาย เนื่องจากการทำงานเท่านั้น โดยภายใต้ พรบ. เงินทดแทน ดังกล่าว กำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุนเงินทดแทน ซึ่งเป็นกลไกที่ทำหน้าที่จ่ายเงินแทนนายจ้าง โดยนายจ้างเป็นผู้มีหน้าที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเพียงฝ่ายเดียวตามอัตราเงินสมทบกองทุนเงินทดแทน ซึ่งจะแตกต่างกันตามลักษณะความเสี่ยงภัยในการทำงานของแต่ละกิจการ โดยปัจจุบันกำหนดไว้ 131 ประเภทกิจการ อัตราเงินสมทบระหว่าง 0.2% – 1.0% ของค่าจ้าง ดังนั้นแล้ว ค่าทำศพ 50,000 บาทนี้ จึงไม่ได้เป็นภาระของนายจ้างโดยตรงในเรื่องของการตั้งสำรองผลประโยชน์พนักงาน ตามมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 19 เนื่องด้วยนายจ้างได้จ่ายเงินสมทบรายปีไปที่กองทุนเงินทดแทน ลักษณะเช่นนี้ถือเป็นผลประโยชน์ประเภทโครงการสมทบเงิน (Defined Contribution) ไม่ใช่ เป็นลักษณะโครงการผลประโยชน์ (Defined Benefit Plan) เหมือนเงินชดเชยตาม กฎหมายแรงงาน
แม้ว่าจะไม่มีความจำเป็นต้องตั้งสำรองตามมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 19 แต่ทาง Team Excellence Consulting ได้วิเคราะห์ถึงผลกระทบของผลประโยชน์เสียชีวิต จำนวน 50,000 บาทนี้ หากนายจ้างต้องตั้งสำรองทางบัญชีเอง โดยแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 3 กลุ่ม คือกิจการขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ ดังแสดงรายละเอียดในตารางด้านล่าง
ผลการวิเคราะห์พบว่ามูลค่าเงินที่ต้องตั้งสำรองเฉลี่ยจะอยู่ที่เพียงร้อยละ 0.14 เมื่อเทียบกับมูลค่าเงินเดือนที่จ่ายรายเดือนสำหรับกิจการขนาดเล็ก และร้อยละ 0.41 สำหรับกิจการขนาดกลางและใหญ่ ซึ่งหากกิจการกำลังพิจารณาจัดหาผลประโยชน์กรณีเสียชีวิตเพิ่มเติมให้กับพนักงานในลักษณะที่เป็นโครงการผลประโยชน์ ก็สามารถเทียบเคียงต้นทุนในการตั้งสำรองตามตัวเลขด้านบนได้นะครับ
………………………………………………………………………………………………………….
0 Comments