การเลือกวิธีวัดมูลค่าตาม IFRS17 สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย (ตอนที่ 2 : ขั้นตอนการพิจารณา หากต้องการเลือกใช้วิธี PAA)
- On September 5, 2021
ต่อจากบทความที่แล้ว หลังจากรู้แล้วว่าบริษัทประกันวินาศภัยมีทางเลือกอยู่หลายทางในการเลือกวิธีวัดมูลค่า แต่วิธี PAA ถือว่าเป็นวิธีที่มีความน่าสนใจเนื่องจากถือว่าเป็นวิธีที่มีต้นทุนในการนำไปใช้ที่ต่ำกว่า ดังนั้น หากท่านสนใจที่จะเลือกใช้วิธี PAA บทความนี้ได้สรุปสิ่งที่บริษัทต้องพิจารณา โดยแบ่งเป็น 4 ประเด็นหลัก ดังนี้ครับ
(1.) พิจารณาว่ากลุ่มสัญญาประกันภัยใดของบริษัท ที่สามารถใช้วิธีการวัดมูลค่าอย่างง่าย PAA ได้
(2.) ทำความเข้าใจวิธีการวัดมูลค่าอย่างง่าย PAA ว่ามีการคำนวณอย่างไร
(3.) ทำสรุปรายการยกเว้นที่วิธีการวัดมูลค่าอย่างง่าย PAA ไม่ต้องปฏิบัติเหมือนกับวิธีการวัดมูลค่าทั่วไป GMM
(4.) ทำความเข้าใจข้อกำหนดการเปิดเผยข้อมูลของวิธีการวัดมูลค่าอย่างง่าย PAA
โดยบทความนี้จะลงรายละเอียดสำหรับ 2 ประเด็นแรกก่อนครับ
(1.) บริษัทต้องพิจารณาว่า มีกลุ่มสัญญาประกันภัยที่จะใช้วิธีการวัดมูลค่าอย่างง่าย หรือ PAA มากน้อยเท่าใด โดยพิจารณาจาก
-
- กลุ่มสัญญาประกันภัยต้องไม่เป็นภาระ (not onerous)
- สัญญาประกันภัยมีระยะเวลาคุ้มครองน้อยกว่าหรือเท่ากับ 1 ปี หรือ
- กิจการคาดหวังอย่างมีเหตุผลว่า วิธีการอย่างง่าย PAA วัดมูลค่าหนี้สินความคุ้มครองที่เหลืออยู่ (liability for remaining coverage; LRC) ของกลุ่มสัญญาประกันภัยไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญจากวิธีการทั่วไป GMM
ข้อ (3) จะใช้ไม่ได้ หากบริษัทคาดว่า ณ วันเริ่มต้นกลุ่มสัญญาประกันภัย มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในกระแสเงินสดสำหรับภาระผูกพัน (fulfilment cashflow) ที่มีผลกระทบต่อการวัดมูลค่าของ LRC ระหว่างระยะเวลาก่อนการเคลมเกิดขึ้น (วิธีการตรวจสอบเกี่ยวกับ PAA Eligibility Check นี้จะได้เขียนบทความเพิ่มเติมต่อไป)
(2.) บริษัทควรจะทำความเข้าใจวิธีการวัดมูลค่าอย่างง่ายว่ามีการคำนวณ ณ วันเริ่มต้นกลุ่มสัญญาประกันภัย และ ณ วันสิ้นสุดระยะเวลารายงานต่อมา รวมไปถึงหากกลุ่มสัญญาประกันภัยเกิดเป็นภาระ (onerous) ในระหว่างที่ยังคุ้มครองอยู่ บริษัทต้องทำอย่างไร
2.1 วิธีการวัดมูลค่าอย่างง่าย PAA สำหรับหนี้สินความคุ้มครองที่ยังเหลืออยู่ LRC ณ วันเริ่มต้นกลุ่มสัญญาประกันภัย เท่ากับ
a. เบี้ยประกันภัยรับ (ถ้ามี) ณ วันเริ่มต้นรับรู้
b. หักด้วย กระแสเงินสดเกี่ยวกับการได้มาซึ่งกลุ่มสัญญาประกันภัย (insurance acquisition cash flows; IACF) ณ วันนั้น (เว้นแต่บริษัทเลือกที่จะรับรู้เป็นค่าใช้จ่ายเมื่อเกิดขึ้น) และ
c. บวก หรือ ลบ จำนวนเงินใดๆที่เกิดขึ้นจากการยกเลิกรายการ ณ วันนั้น สำหรับสินทรัพย์ของ IACF หรือ สินทรัพย์/หนี้สินใดๆที่รับรู้ก่อนหน้านี้สำหรับกระแสเงินสดเกี่ยวกับกลุ่มสัญญาประกันภัย
2.2 วิธีการวัดมูลค่าอย่างง่าย PAA สำหรับหนี้สินความคุ้มครองที่ยังเหลืออยู่ LRC ณ วันสิ้นสุดระยะเวลารายงานต่อมา (สำหรับกลุ่มสัญญาประกันภัยที่มีกำไร) เท่ากับ
a. ยอดยกมาของหนี้สินความคุ้มครองที่ยังเหลืออยู่ LRC ณ วันเริ่มต้นระยะเวลารายงาน
b. บวก เบี้ยประกันภัยรับในรอบระยะเวลา
c. ลบ IACF (เว้นแต่บริษัทเลือกจะรับรู้เป็นค่าใช้จ่ายเมื่อเกิดขึ้น)
d. บวก จำนวนเงินใดๆที่เกี่ยวกับการทยอยรับรู้ IACF เป็นค่าใช้จ่ายในรอบระยะเวลารายงาน(เว้นแต่บริษัทเลือกจะรับรู้เป็นค่าใช้จ่ายเมื่อเกิดขึ้น)
e. บวก การปรับปรุงใดๆเกี่ยวกับทางการเงิน
f. ลบ จำนวนเงินที่รับรู้เป็นรายได้ประกันภัยสำหรับบริการที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลานั้น และ
g. ลบ ค่าใช้จ่ายลงทุนที่จ่าย หรือโอนไปหนี้สินสินไหมที่เกิดขึ้นแล้ว (liability of incurred claims; LIC)
2.3 หากกลุ่มสัญญาประกันภัยเป็นภาระ (onerous) บริษัทจะต้องดำเนินการอย่างไร
กลุ่มสัญญาประกันภัยทั้งหมดที่วัดมูลค่าด้วยวิธีวัดมูลค่าอย่างง่าย PAA จะต้องไม่เป็นกลุ่มสัญญาที่เป็นภาระ ณ วันเริ่มรับรู้รายการ เว้นแต่ข้อเท็จจริงและสถานการณ์จะระบุเป็นอย่างอื่น หากข้อเท็จจริงและสถานการณ์ระบุว่ากลุ่มสัญญาประกันภัยเป็นภาระ (onerous) ระหว่างระยะเวลาคุ้มครอง บริษัทจะต้องคำนวณส่วนต่างระหว่าง
(i) ยอดยกมาของ LRC ด้วยวิธีอย่างง่าย PAA (ก่อนรวมส่วนที่ขาดทุน) และ
(ii) กระแสเงินสดสำหรับภาระผูกพันกลุ่มสัญญาประกันภัยที่ยังเหลือความคุ้มครองอยู่ คล้ายกับวิธีการวัดมูลทั่วไป GMM
บริษัทต้องรับรู้ส่วนต่างนี้เป็นขาดทุน และบวกเพิ่ม หนี้สินความคุ้มครองที่ยังเหลืออยู่ LRC
ในบทความถัดไป เราจะมาต่อกันในเรื่องของการสรุปรายการยกเว้นที่ PAA ไม่ต้องปฏิบัติเหมือนกับวิธี GMM รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลของวิธีการวัดมูลค่าอย่างง่าย PAA ติดตามกันได้ครับ
บทความโดย สุทีม ภัทรมาลัย (FSA, FSAT)
บริษัท ทีม เอ็กซ์เซลเลนซ์ คอลซัลติ้ง จำกัด
0 Comments