การเลือกวิธีวัดมูลค่าตาม IFRS17 สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย (ตอนที่ 1 : PAA หรือ GMM ควรเลือกใช้วิธีไหน?)
- On August 31, 2021
หลังจากคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชีสากล (IASB) ได้กำหนดมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 17 “สัญญาประกันภัย” (IFRS17) เมื่อเดือน พฤษภาคม พ.ศ.2560 ซึ่งจะมาใช้แทนมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 4 (IFRS4) ที่ใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 วัตถุประสงค์สำคัญคือการกำหนดให้การวัดมูลค่าสำหรับสัญญาประกันภัย มีความสอดคล้องกันสำหรับอุตสาหกรรมประกันภัยทั่วโลก ผ่านมา 3 ปีทางคณะกรรมการมาตรฐานการบัญชีสากล (IASB) ได้เผยแพร่ IFRS17 ฉบับแก้ไข เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ.2563 รวมถึงการเลื่อนวันกำหนดใช้มาตรฐานไปเป็น ณ วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2566 ซึ่งสำหรับประเทศไทยจะเป็น 1 มกราคม พ.ศ.2567 ( 1 ปีช้ากว่าการนำไปใช้ของทั่วโลก)
บทความนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากคำถามระหว่าง การประชุมเกี่ยวกับการเลือกโซลูชั่นของ IFRS17 กับบริษัทประกันวินาศภัยแห่งหนึ่งในประเทศไทย เนื่องจากโซลูชั่นส่วนใหญ่จะรองรับการคำนวณได้ทั้งหมด 3 วิธีตามที่มาตรฐานกำหนด ได้แก่ 1) วิธีการวัดมูลค่าทั่วไป (General Measurement Model; GMM) 2) วิธีการวัดมูลค่าอย่างง่าย (Premium Allocation Approach; PAA) และ 3) วิธีการวัดมูลค่าธรรมเนียมผันแปร (Variable Fee Approach; VFA)
คำถามก็คือ บริษัทจะเลือกใช้วิธีไหน?
เนื่องจากบริษัทมีกลุ่มสัญญาประกันภัยส่วนใหญ่เป็นระยะสั้นที่สามารถใช้วิธีวัดมูลค่าอย่างง่าย PAA ได้ แต่ก็มีกลุ่มสัญญาประกันภัยที่มีระยะเวลาคุ้มครอง 2 ถึง 3 ปี ที่อาจจะต้องใช้วิธีการวัดมูลค่าทั่วไป GMM ทำให้บริษัทอาจจะต้องใช้ทั้ง GMM และ PAA ในเมื่อโซลูชั่นสามารถรองรับได้หมดทุกวิธี บริษัทสามารถเลือกใช้วิธี GMM ที่เป็นวิธีวัดมูลค่าหลักตาม IFRS17 สำหรับกลุ่มสัญญาประกันภัยทั้งหมดของบริษัทได้ แต่จะเป็นการตัดสินใจที่เหมาะสมหรือไม่ บริษัทจะได้ไม่ต้องพิสูจน์สิทธิการใช้วิธีการวัดมูลค่าอย่างง่าย หรือ PAA Eligibility Test เพื่อจะได้ใช้วิธีวัดมูลค่าอย่างง่ายสำหรับกลุ่มสัญญาประกันภัยทั้งหมด
คำตอบเบื้องต้นคือ..
บริษัทสามารถพิจารณาทางเลือก ดังต่อไปนี้
1) บริษัทใช้วิธีวัดมูลค่าทั่วไป GMM สำหรับกลุ่มสัญญาประกันภัยทั้งหมด
2) บริษัทใช้วิธีวัดมูลค่าทั่วไป GMM สำหรับกลุ่มสัญญาประกันภัยระยะยาว และวิธีวัดมูลค่าอย่างง่าย PAA สำหรับกลุ่มสัญญาประกันภัยระยะสั้น
3) บริษัทใช้วิธีวัดมูลค่าอย่างง่าย PAA สำหรับกลุ่มสัญญาประกันภัยทั้งหมด โดยต้องมีการจัดทำ PAA Eligibility Test สำหรับกลุ่มสัญญาประกันภัยระยะยาว
สำหรับผู้อ่านที่ได้ศึกษามาตรฐานการรายงานทางการเงิน IFRS17 มาบ้างแล้ว จะทราบว่าทางเลือก 3) จะต่างกับทางเลือก 2) เล็กน้อย นั่นคือ บริษัทที่ต้องการจะใช้วิธีวัดมูลค่าอย่างง่าย PAA อย่างเดียวจะไม่สามารถทำได้ หากมีกลุ่มสัญญาประกันภัยที่เป็นภาระ (onerous) ทำให้บริษัทต้องใช้วิธีวัดมูลค่าทั่วไป GMM อยู่ดีสำหรับกลุ่มสัญญาประกันภัยที่เป็นภาระ ทำให้ต้องใช้วิธีวัดมูลค่าทั้ง GMM และ PAA ตามทางเลือก 2
บริษัทประกันวินาศภัย สามารถใช้วิธีการวัดมูลค่าทั่วไป หรือ GMM สำหรับสัญญาประกันภัยทั้งหมดได้ก็จริง แต่คงต้องชั่งน้ำหนักวัดความสมดุลระหว่าง ความซับซ้อนและต้นทุนในการนำวิธีการวัดมูลค่าทั่วไป GMM มาใช้สำหรับกลุ่มสัญญาประกันภัยทั้งหมด เปรียบเทียบกับ การใช้ทั้งวิธีการวัดมูลค่า GMM (คาดว่าสัญญาประกันวินาศภัยที่ใช้วิธีการนี้มีปริมาณไม่มาก) และ PAA (สัญญาประกันวินาศภัยส่วนใหญ่) ร่วมกัน
ในบทความถัดไป ผมจะมาสรุปว่า หากท่านสนใจที่จะใช้วิธีการวัดมูลค่าอย่างง่าย PAA ที่ถือว่าเป็นวิธีที่มีต้นทุนในการนำไปใช้ที่ต่ำกว่าวิธีอื่นนั้น จะต้องมีขั้นตอนวิธีการพิจารณาอย่างไร รอติดตามได้ในบทความถัดไปครับ
บทความโดย สุทีม ภัทรมาลัย (FSA, FSAT)
บริษัท ทีม เอ็กซ์เซลเลนซ์ คอลซัลติ้ง จำกัด
0 Comments