การเลือกวิธีวัดมูลค่าตาม IFRS17 สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย (ตอนที่ 3 : ขั้นตอนการพิจารณา หากต้องการเลือกใช้วิธี PAA (ต่อ))
- On September 13, 2021
มาถึงตอนสุดท้ายของซีรี่ส์การวัดมูลค่าตาม IFRS17 ยังมีอีกสองประเด็นที่บริษัทต้องพิจารณาหากสนใจที่จะเลือกใช้วิธี PAA ได้แก่ การทำสรุปรายการยกเว้นที่ PAA ไม่ต้องปฏิบัติเหมือนกับวิธีการวัดมูลค่าทั่วไป GMM และการเปิดเผยข้อมูลของวิธีการวัดมูลค่าอย่างง่าย PAA
(3.) บริษัทควรจะทำสรุปรายการยกเว้นที่ PAA ไม่ต้องปฏิบัติเหมือนกับวิธีการวัดมูลค่าทั่วไป GMM ซึ่งมีดังต่อไปนี้
3.1 บริษัทไม่ต้องปรับปรุงมูลค่าเงินตามเวลา หากสามารถใช้วิธีวัดมูลค่าอย่างง่าย PAA ตาม IFRS17.56 หรือ IFRS17.59(b);
3.2 บริษัทอาจจะรับรู้ IACF เป็นค่าใช้จ่ายเมื่อต้นทุนเกิดขึ้นจริง โดยที่ระยะเวลาคุ้มครองของแต่ละสัญญาประกันภัย ณ วันเริ่มต้นสัญญาประกันภัยจะต้องน้อยกว่า 1 ปี [IFRS17.59(a)];
3.3 ไม่มี ส่วนเกินจากสัญญาบริการ (Contractual service margin; CSM) สำหรับวิธีวัดมูลค่าอย่างง่าย PAA ดังนั้น ไม่มีการนำเสนอ การคำนวณกระแสเงินสดของภาระผูกพัน FCF (ยกเว้น กลุ่มสัญญาประกันภัยที่เป็นภาระ onerous) รวมถึงข้อมูลที่ต้องใช้ (สมมติฐานต่างๆ); และ
3.4 ไม่ต้อง เปิดเผยข้อมูลจำเพาะของวิธีวัดมูลค่า GMM และ VFA อย่างเช่น
(i) IFRS17.101 การกระทบยอดขององค์ประกอบหนี้สิน (มูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดในอนาคต ตัวปรับความเสี่ยง RA และ CSM),
(ii) IFRS17.104 การกระทบยอดองค์ประกอบหนี้สินที่ต้องแยกการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับ การบริการในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต,
(iii) IFRS17.106 การวิเคราะห์รายได้จากการประกันภัย,
(iv) IFRS17.107 ผลกระทบจากการรับรู้เริ่มแรกของวิธีวัดมูลค่า GMM/VFA,
(v) IFRS17.109 รูปแบบการทยอยรับรู้ CSM และอื่นๆ
(4.) ข้อกำหนดการเปิดเผยข้อมูลของวิธีการวัดมูลค่าอย่างง่าย PAA ถูกกำหนดโดย IFRS17.98-109A, ย่อหน้า 98-100, 102-103,105-105B และ 109A ก็ต้องใช้กับสัญญาประกันภัยที่ใช้วิธีวัดมูลค่าอย่างง่าย PAA บริษัทต้องเปิดเผยต่อไปนี้
4.1 กลุ่มสัญญาประกันภัยผ่านหลักเกณฑ์ใดในสิทธิการใช้วิธีวัดมูลค่าอย่างง่าย PAA Eligibility;
4.2 บริษัทมีการปรับใช้มูลค่าเงินตามเวลาหรือไม่ และมีความเสี่ยงทางการเงินอย่างไร;
4.3 วิธีที่บริษัทเลือกในการรับรู้ IACF;
4.4 หนี้สินสินไหมทดแทนที่เกิดขึ้นแล้ว LIC โดยมีการแยกกระทบยอดของ 1) ประมาณการมูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดในอนาคต (PVCF); และ 2) ตัวปรับความเสี่ยง RA สำหรับความเสี่ยงที่ไม่ใช่การเงิน
มาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 17 (IFRS17) ได้ให้วิธีวัดมูลค่าอย่างง่าย PAA ที่ทำให้บริษัทสามารถนำมาตรฐานไปใช้ได้โดยลดความซับซ้อนต่างๆ ทำให้มีต้นทุนในการนำไปใช้มีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยที่ยังคงรักษาหลักการและเจตจำนงของมาตรฐานนี้ไว้
บริษัทควรพิจารณานำวิธีวัดมูลค่าอย่างง่าย PAA ไปใช้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะบริษัทประกันวินาศภัยที่ส่วนใหญ่สัญญาประกันภัยมีระยะเวลาคุ้มครองไม่เกิน 1 ปี ส่วนสัญญาประกันภัยที่ไม่ผ่าน PAA Eligibility Check ก็อาจจะมีการปรับปรุงสัญญาประกันภัยที่จะออกใหม่ในอนาคตให้สอดคล้องกับมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 17 ที่กำลังจะมีผลบังคับในไม่กี่ปีข้างหน้า หากเลี่ยงไม่ได้จริงๆ อาจจำเป็นต้องใช้วิธีวัดมูลค่าทั่วไป GMM ก็ควรจำกัดให้น้อยที่สุด
บทความโดย สุทีม ภัทรมาลัย (FSA, FSAT)
บริษัท ทีม เอ็กซ์เซลเลนซ์ คอลซัลติ้ง จำกัด
0 Comments